สงครามอิรัก-อเมริกา

คอลัมน์ คนเดินตรอก ประชาชาติธุรกิจ วีรพงษ์ รามางกูร คนเดินตรอก วันที่ 20 มกราคม 2546

ปีที่ 26 ฉบับที่ 3446 (2646)

ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ข่าวคราวทางการเมืองระหว่างประเทศ ก็เห็นจะไม่มีข่าวใด ดังและได้รับความสนใจจากชาวโลก มากไปกว่าข่าวที่ว่า สหรัฐจะบุกอิรัก หากประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนไม่ยอมลงจากตำแหน่ง และกองทัพอิรักไม่ยอมปลดอาวุธ

ตั้งแต่นั้นมาทั่วโลกก็พากันเฝ้าจับตามองว่าสภาพการณ์จะพัฒนาไปในทางใด อังกฤษนั้นกระโจนเข้าไปสนับสนุนสหรัฐเต็มตัว ส่วนฝรั่งเศสกับเยอรมนียังกั๊กอยู่ ขอให้รอมติคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ซึ่งต้องรอฟังผลจากรายงานของคณะผู้ตรวจสอบที่สหประชาชาติส่งเข้าไปตรวจสอบในดินแดนของอิรักว่า อิรักมีอาวุธทำลายล้าง ไม่ว่าจะเป็นระเบิดนิวเคลียร์ หรืออาวุธชีวภาพ หรืออาวุธเชื้อโรคหรือไม่

ทีแรกคณะมนตรีความมั่นคงก็ดึงเรื่องไว้ โดยฝรั่งเศสกับเยอรมนี ต่อมาคณะมนตรีความมั่นคง ก็ตกลงลงมติให้สหประชาชาติเข้าตรวจ เพราะสหรัฐขู่ว่าหากคณะมนตรีความมั่นคงไม่ยอมมีมติให้สหประชาชาติเข้าตรวจ สหรัฐก็จะโจมตีอิรัก

พอคณะมนตรีความมั่นคงมีมติให้สหประชาชาติเข้าตรวจได้ อิรักก็ยังไม่ยอมสหรัฐ ก็เริ่มส่งทหารเข้าไปในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย อิรักก็ยอมให้ตรวจ

คณะตรวจอาวุธของสหรัฐเข้าไปตั้งนานแล้วแต่ปรากฏว่าไม่พบอาวุธอะไรที่ร้ายแรง แล้วก็บอกว่ายังตรวจไม่ทั่ว ถ้าจะให้ตรวจให้ทั่วต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง

ขณะเดียวกันสหรัฐก็ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และทหารเป็นจำนวนมากเข้าไปในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย

ขณะเดียวกันอังกฤษก็ยังลังเล เพราะเหตุผลว่าอิรักกำลังพัฒนาอาวุธร้ายแรงเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ ยังไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ กำหนดการที่ตั้งไว้แต่แรกว่าจะต้องส่งรายงานเบื้องต้น ให้คณะมนตรีความมั่นคง ภายในวันที่ 27 มกราคมนี้ ก็คงจะยังไม่มีอะไร แล้วก็บอกเป็นนัยๆ ว่าคงต้องใช้เวลาตรวจสอบนานกว่าที่คาดไว้เดิม

สถานการณ์อย่างว่าก็เลยยังเป็นเรื่องที่ชาวโลกยังต้องเฝ้าคอยว่าอเมริกาจะบุกอิรักหรือไม่ ถ้าบุกจะให้เหตุผล กับชาวโลกเขาอย่างไร เพราะข้อกล่าวหาที่ชาวบ้านเข้าใจกันโดยทั่วไป ก็คือ อิรักกำลังพัฒนาอาวุธสงครามร้ายแรง ที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ ซึ่งคณะผู้ตรวจสอบที่ตรวจอยู่ก็ยังไม่พบ และขอขยายเวลาตรวจสอบออกไปอีก ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็คงต้องยอมให้ และถ้าบุกจริงจะบุกเมื่อไหร่ บุกแล้วจะเรียบร้อยหรือไม่

เนื่องจากคำถามดังกล่าวมีความสำคัญมากในการวางนโยบายเศรษฐกิจทั้งของรัฐบาลและของเอกชนทั่วโลก

พอดีสภาธุรกิจไทย-อเมริกันร่วมกับหอการค้าอเมริกัน และคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีปาฐกถาพิเศษ อีเลียต โคเฮน (Dr.Eliot Cohen) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านยุทธศาสตร์ศึกษา ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา ดร.อีเลียต โคเฮน นี้เคยสอนวิชารัฐศาสตร์อยู่หลายแห่ง รวมทั้งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และที่วิทยาลัยยุทธ นาวี แห่งสหรัฐอเมริกา United States Naval War College และเคยทำงานในสำนักงานวางแผนนโยบาย ในสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐด้วย แล้วก็แต่งหนังสือเกี่ยวกับสงครามในยุคปัจจุบันหลายเล่ม ก็เลยถือโอกาสไปฟังว่าเขาจะว่าอย่างไร

ประเด็นแรก ดร.โคเฮนบอกว่า การปราบปรามการก่อการร้ายนั้น ทางอเมริกาใช้คำว่า สงครามกับการก่อการร้าย ไม่ใช้คำว่าปราบปราม เพราะการก่อการร้ายนั้นไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา แต่มีการจัดตั้ง และกระจัดกระจายไปทั่วโลก การต่อต้านอย่างว่าจึงต้องใช้คำว่าสงครามกับการก่อการร้าย แต่ ดร.โคเฮนก็ไม่ได้พูดชัดว่าการก่อการร้ายนั้นว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้นำของอิรักอย่างไร

ส่วนประเด็นที่ยังสงสัยกันว่าสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรักนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ดร.โคเฮนบอกว่า สงครามเกิดแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย นอกเสียจากมีปฏิวัติรัฐประหารในอิรัก โดยที่ประธานาธิบดีซัดดัมหนีไปอยู่นอกประเทศ และมีผู้นำใหม่ที่เปลี่ยนนโยบายที่ไม่เป็นภัยต่อเพื่อนบ้านของอิรักในตะวันออกกลาง ด้วยเหตุผลต่างๆ หลายอย่างดังนี้

อเมริกาโดยประธานาธิบดีได้ตัดสินใจส่งทหารไปอยู่รอบๆ อ่าวเปอร์เซียแล้ว การส่งทหารจำนวนมากพร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดนั้นไปแล้ว รวมทั้งได้มีการเรียกทหารกองหนุนเข้าประจำการมากมายขนาดนั้นแล้ว แล้วจะให้เลิกทัพกลับบ้านเสียเฉยๆ ก็ย่อมจะเป็นการเสื่อมเสียเกียรติของชาติ และเกียรติยศของประธานาธิบดีเอง ในฐานะชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร

ส่วนการตรวจสอบอาวุธนั้นต้องถือว่าไม่ได้ผลแล้วก็เสียเวลา เพราะอย่างไรเสีย อิรักก็เป็นภัยต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างคูเวต อิหร่าน และอิสราเอล เพราะการพัฒนาอาวุธร้ายแรงนั้น แม้จะยังตรวจไม่พบ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาขึ้นมา จนเป็นภัยต่อเพื่อนบ้านได้เสมอ

ผมฟังแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี ว่าถ้าเกิดคณะตรวจสอบอาวุธของสหประชาชาติยังตรวจไม่พบอาวุธร้ายแรงแล้ว ขอยึดเวลาการตรวจสอบออกไปอีก อเมริกาจะอธิบายอย่างไร ในการบุกก่อนที่อากาศร้อนในทะเลทรายมาถึง

สิ่งหนึ่งที่ ดร.โคเฮนไม่ได้พูดถึงเลยก็คือ มติความเห็นของชาวโลก โดยทั่วไปจะมีความเห็นอย่างไร ถ้ายังมีความไม่ชัดเจนอยู่ในเรื่องพยานหลักฐาน แต่สรุปได้ว่าสงครามจะต้องเกิดขึ้นแน่ มีคนถามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดร.โคเฮนตอบว่าบอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หลังจากคณะตรวจสอบได้ยื่นรายงานเบื้องต้นถึงคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว

มีคนถามว่าที่สงครามจะเกิดขึ้นนี้เป็นเพราะอิรักเป็นประเทศที่มีน้ำมันมากเป็นอันดับสองของโลกต่อจากซาอุดีอาระเบียหรือไม่ องค์ปาฐกตอบว่า มีส่วนบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เรื่องอื่นเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า

สิ่งหนึ่งที่นักธุรกิจอยากฟังก็คือ เมื่อเกิดสงครามแล้วจะเป็นอย่างไร สงครามจะเสร็จเร็วหรือเสร็จช้า ถ้าเสร็จเร็วผลต่อเศรษฐกิจของโลกก็จะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าสงครามยึดเยื้อผลต่อทางเศรษฐกิจก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ดร.โคเฮนเห็นว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อลักษณะไม่เข้าไปยึดครองอยู่นาน แบบที่สหรัฐเข้าไปยึดครองญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และไม่น่าต้องอยู่นานแบบในกรณีอัฟกานิสถาน แต่น่าจะเป็นแบบกรณีสหรัฐเข้าไปจัดการเรื่องคลองปานามาในปี 1989

แต่การคาดการณ์อาจจะพลิกผันไปก็ได้ว่าเมื่อประธานาธิบดีซัดดัมถูกสหรัฐโค่นล้มไปแล้ว ประเทศอิรักอาจจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วเกิดสงครามกลางเมือง กลายเป็นการรบราฆ่าฟันกันเอง บางส่วนอาจจะไปรวมกับซาอุดีอาระเบีย บางส่วนอาจจะไปรวมกับอิหร่าน จนไม่มีประเทศอิรักก็ได้

หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อสงครามสงบลงแล้ว สหรัฐอาจจะดึงเอาประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบๆ อิรัก และดึงเอาองค์การระหว่างประเทศเข้ามาร่วมกันจัดการแบบเดียวกับอัฟกานิสถานก็เป็นไปได้ มิฉะนั้นก็คงจะเกิดสงครามกลางเมือง รบราฆ่าฟันกันเองอย่างนองเลือดก็ได้

ที่น่าสนใจก็คือเมื่อสหรัฐเข้าไปแล้วจะจัดการอย่างไร และจะถอนตัวออกจากอิรักอย่างไร เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก การบุกเข้าไปโจมตีถอดถอนรัฐบาลอิรักอาจจะทำได้ง่าย ไม่ยาก แต่เข้าไปแล้วจะถอนตัวออกมาอย่างไร ถ้าไม่ต้องการยึดครองอยู่นานจะทำได้อย่างไร

ขณะเดียวกันหลังจากสงครามขบวนการต่างๆ จะแยกย้ายไปอยู่ที่ใด การปฏิบัติการก่อการร้ายจะมากขึ้นกว่าเดิม หรือจะบรรเทาเบาบางลงคงไม่มีใครตอบได้แน่ชัดในขณะนี้ ซึ่งสิ่งที่ตอบไม่ได้เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง

มีคนลุกขึ้นถามว่า ถ้าหากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรักขึ้น เขาคิดว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างไร ดร.โคเฮนให้ความเห็นอย่างง่ายๆ ว่า ขณะที่ยังไม่เกิดสงครามแบบในขณะนี้ แต่สหรัฐเสริมกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ล้อมอิรักอยู่อย่างนี้ จะทำให้เกิดความตึงเครียดโดยทั่วไป ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก

เขาแปลกใจมากเมื่อถึงกรุงเทพฯ เห็นคนไทยยิ้มแย้มแจ่มใสดี อยู่แบบสบายๆ ไม่เหมือนกับผู้คนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หรือที่เมืองอื่นในสหรัฐ ที่มีความรู้สึกค่อนข้างจะเครียดในเรื่องสงคราม

ความตึงเครียดนี้เกิดจากความไม่แน่นอนว่า เมื่อใดที่สหรัฐจะบุกอิรัก บุกแล้วน้ำมันจะแพงหรือไม่ การเงินจะเป็นอย่างไร กังวลในเรื่องต่างๆ นานาดังนั้น หากเกิดสงครามขึ้นแล้ว ดร.โคเฮนเห็นว่าความไม่แน่นอนต่างๆ น่าจะหมดไป ดีกว่ายังมาอึมครีมอยู่อย่างนี้ ซึ่งอาจวิเคราะห์ง่ายไปหน่อย เพราะเมื่อเกิดสงครามแล้ว โจทย์ก็เปลี่ยนไป โจทย์ใหม่อาจจะยากและอึมครึมกว่าโจทย์เก่าก็ได้ ไม่มีใครรู้

ในฐานะที่เป็นประชาชนชาวพุทธจากประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องฟังดูแล้วก็รู้สึกหดหู่ใจเป็นกำลัง วาดภาพเห็นความทุกข์ยากเจ็บป่วย ล้มตาย พลัดพรากของประชาชนจากสิ่งที่ตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย ภาพของสงครามอ่าวเปอร์เซียคราวก่อนเมื่อกว่า 12 ปีก่อน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2533 หลังจากที่อิรักบุกเข้ายึดครองคูเวต หลังจากนั้นสหรัฐก็บุกโจมตีอิรัก

ทันทีที่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียขึ้น ภาวะเศรษฐกิจการเงินของโลกก็ปั่นป่วนขึ้นมาทันที ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง บ้านเราก็ต้องประกาศขึ้นราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเกิดภาวะเงินตึงอย่างรุนแรงด้วยเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญก็คือ เราต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันมากขึ้น เพราะน้ำมันแพงขึ้น การส่งออกหยุดชะงัก เพราะเรือไม่สามารถผ่านบริเวณสงครามได้ เครื่องบินก็ผ่านไม่ได้ต้องบินอ้อม

ที่สำคัญอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ผู้คนทั่วโลกหยุดการเดินทาง ยกเลิกการจองเครื่องบินและห้องพักโรงแรมหมด จำนวนนักท่องเที่ยวตกฮวบฮาบ

ในครั้งนั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นทันที เพราะตลาดคาดว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จากการที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น จำได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนประเทศไทยในขณะนั้น กำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ไม่ให้เกิน 16 เปอร์เซ็นต์ เงินจึงไหลออกจากประเทศไปอย่างรวดเร็ว เคราะห์ดีที่ขณะนั้นเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งมีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับดอลลาร์สหรัฐจึงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งๆ ที่มีเงินไหลออกเป็นจำนวนมาก ดัชนีราคาหุ้นในตลาดก็ตกลงทุกวัน และวันละมากๆ

ขณะนั้นผมไปทำงานเป็นที่ปรึกษาวางแผนเศรษฐกิจอาวุโสอยู่ที่ประเทศลาว ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 16 เปอร์เซ็นต์ ไปชนเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ 19 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อมีการแก้กฎหมาย จึงได้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสถาบันการเงิน ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้กำหนดเอาเอง พร้อมกับขึ้นราคาน้ำมัน ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ลอยตัวอย่างทุกวันนี้

ความผันผวนดังกล่าวรุนแรงมาก และไม่มีใครทราบว่าจะลงเอยอย่างไรสำหรับประเทศเรา เพราะของขึ้นราคา ดอกเบี้ยแพง เงินตึงตัวเพราะเงินไหลออกจากประเทศมาก

ดังนั้น ที่เห็นกันว่าไม่น่าจะมีอะไรเพราะตลาดได้ซึมซับเอาไว้แล้ว ไม่น่าจะจริง ส่วนความผันผวนจะเป็นอย่างไร คงคาดเดาได้ลำบาก เพราะสงครามที่จะเกิดขึ้นเที่ยวนี้อยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่แตกต่างจากคราวที่แล้ว

แต่สงครามไม่น่าจะทำให้ใครดีขึ้น ทั้งฝ่ายที่แพ้สงครามและฝ่ายที่ชนะสงคราม รวมทั้งชาวโลกทั้งหมด

ก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าได้เกิดสงครามเลยจะดีที่สุด

15

16

อเมริกาหลังสงครามอิรัก

ดูเหมือนการอาศัยดวงอเมริกาเพียงดวงเดียว ในการพยากรณ์สงครามกับอิรัก ในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนก่อน จะให้ผลลัพธ์ดีเกินคาด เพราะไม่เพียงนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) และนายซัดดัม ฮุสเซ็น (Saddam Hussein) ต่างไม่ใช้สติปัญญาและ Free Will ของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ส่งผลให้มุมร้ายของดวงดาวต่างๆ ทั้ง 8 ประการ อันบ่งบอกถึงการเกิดสงครามในดวงอเมริกา กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา แต่ดูเหมือนอเมริกาน่าจะได้ชัยชนะจากสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับมุมตรีโกณของเนปจูนจรกับเสาร์ในเรือน 10 ของดวงอเมริกา (โปรดอ่านบทความในคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์)

วันนี้ ผมจะนำเอาดวงอเมริกาของนาย Robert Hand  กลับมาวิเคราะห์ใหม่อีกครั้งตามคำเรียกร้องของผู้อ่านบางท่านที่สนใจว่า สงครามจะสิ้นสุดเมื่อไร ใครจะเป็นผู้ชนะสงคราม และความสัมพันธ์กับต่างประเทศของอเมริกาภายหลังสงครามจะเป็นอย่างไรบ้าง

1. การสิ้นสุดสงคามและผู้กำชัยชนะ

การใช้กำลัง (พลูโตจรเล็งอังคารในดวงเมือง) กับต่างประเทศ (เรือน 7) และความขัดแย้ง (พลูโตจรทำมุม 90 องศา หรือ square กับเนปจูนในดวงเมือง) กับต่างประเทศ (เรือน 9) ของอเมริกากำลังใกล้จะลดระดับความรุนแรงลง เพราะพลูโตได้เริ่มเดินถอยหลัง (retrograde) ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคมที่เพิ่งผ่านมานี้เอง และจะค่อยๆ ทิ้งห่างอังคารและเนปจูนออกไป การถอยครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน 5 วัน โดยจะถอยจาก 19 องศา 57 ลิปดา ราศีธนู ไปที่ 17 องศา 14 ลิปดา ราศีธนู ในวันที่ 28 สิงหาคม การโคจรถอยของพลูโตเป็นตัวบ่งบอกว่าสงครามตะวันออกกลางน่าจะสิ้นสุดลงภายในช่วงเวลา 5 เดือนนี้

อเมริกาน่าจะเป็นผู้ชนะสงคราม ด้วยสาเหตุที่ปรากฏในดวงเมือง ดังต่อไปนี้

(1) เนปจูนจรกำลังทำมุม 120 องศา หรือ ตรีโกณ (trine) กับเสาร์ของดวงเมืองตามที่ถึงกล่าวถึงข้างต้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมุมราบรื่น แต่ยังบอกถึงความสามารถในการจัดการตามอุดมการณ์ (เนปจูนผสมเสาร์) ให้สงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะ (เรือน 10) มุมนี้จะแรงสุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมก่อนที่เนปจูนจะเดินถอยหลังตั้งแต่วันที่ 16
(2) มฤตยูจรกำลังเดินหน้าประชิดและทำมุมตรีโกณกับศุกร์และพฤหัส ในเรือน 7 ของดวงเมือง โดยจะห่างจากดาวศุกร์เพียงไม่ถึง 1 องศาและดาวพฤหัสประมาณ 3 องศาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนที่จะเดินถอยหลังตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน มุมนี้เป็นมุมราบรื่นอีกเช่นกันและบอกถึงความสำเร็จและความมีโชค (พฤหัสและศุกร์) จากการรบ (เรือน 7) อย่างรวดเร็ว (มฤตยู)
(3) พฤหัสจรซึ่งเดินถอยหลังมาตั้นแต่วันที่ 4 ธันวาคมของปีก่อน กำลังจะเริ่มเดินหน้าอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน และจะทำมุม 60 องศา หรือ sextile แนบแน่นกับมฤตยูในเรือน 6 ของดวงอเมริกาทันทีเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน มุมราบรื่นนี้หมายถึง ทหารอเมริกัน (เรือน 6) จะประสบความสำเร็จ (พฤหัส) อย่างรวดเร็ว (มฤตยู)

จากตำแหน่งดวงดาวต่างๆข้างต้น พอประเมินได้ว่า สงครามตะวันออกกลางน่าจะสิ้นสุดลงภายในสองเดือนหรืออย่างมากสามเดือนข้างหน้า และอเมริกาน่าจะเป็นผู้กำชัยชนะสงครามในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เนปจูนจรซึ่งกำลังเดินหน้าเข้าประชิดอาทิตย์ของดวงเมืองในมุม inconjunct หรือ 150 องศา จะเข้ากุมอาทิตย์อย่างแนบแน่นประมาณเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของปีนี้ที่ประมาณ 13 องศา ราศีกรกฏ ซึ่งหมายถึงว่าอเมริกาจะผิดหวังและสับสน (เนปจูน) กับต่างประเทศ (อาทิตย์ในเรือน 7) แม้ว่าจะเป็นผู้ชนะสงครามตะวันออกกลาง แต่ใช่ว่าอเมริกาจะเป็นที่ยอมรับของประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของมุมนี้จะลดลงเมื่อเนปจูนเดินถอยหลัง

ข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือ ตำแหน่งอาทิตย์ในราศีกรกฏของดวงนายบุช  อยู่ใกล้กับตำแหน่งอาทิตย์ในราศีเดียวกันของดวงอเมริกาอย่างมาก กล่าวคือ 14 องศา และ 13 องศา 19 ลิปดา ตามลำดับ ดังนั้น อะไรที่กระทบอาทิตย์ในดวงอเมริกาย่อมต้องกระทบดวงของนายบุช และน่าจะกระทบบุชมากกว่า เพราะดวงของบุชมีอาทิตย์กุมเสาร์ด้วย ที่ 14 องศา 20 ลิปดา แต่แทนที่จะเป็นเรื่องของเรือน 7 (ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ) อย่างของดวงเมือง จะเป็นเรื่องของเรือน 12 อันเกี่ยวกับศัตรูลับ และจิตใจภายในซึ่งคนอื่นไม่สามารถมองเห็น โดยศัตรูลับจะทำให้บุชเกิดความสับสนและยุ่งยากใจ (เนปจูน)
2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังสงคราม

พลูโตจรจะเดินหน้าอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม การเล็งอังคารและ square เนปจูนของพลูโตจรจะแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นมีอิทธิพลรุนแรงกว่าสองเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคมของปีนี้เป็นต้นไป อิทธิพลของพลูโตจรจะแรงสุดในไตรมมาสแรกของปีหน้า ในขณะเดียวกันเนปจูนจรจะเดินหน้าและกุมอาทิตย์มากขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม โดยจะมีอิทธิพลแรงสุดในไตรมาสแรกของปีหน้าเช่นกัน

ดูเหมือนปัญหากับต่างประเทศของอเมริกาจะยังไม่สิ้นสุด ถึงแม้สงครามตะวันออกกลางจะยุติลง ปัญหานี้จะเป็นเรื่องเก่าเกี่ยวกับอิรัก เรื่องใหม่ เช่น การก่อการร้ายที่คาดว่าจะตามมาหลังสงคราม การท้าทายของเกาหลีเหนือที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ หรือจะเป็นทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ผสมปนกันไป คงต้องติดตามรอดูกันต่อไป

นอกจากนี้ เสาร์ซึ่งกำลังเดินหน้าอีกครั้ง จะวิ่งผ่านและกุมศุกร์ที่ 3 องศา 6 ลิปดา ราศีกรกฏ และพฤหัสที่ 5 องศา 56 ลิปดา ราศีกรกฏ อย่างสนิทประมาณเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม โดยปกติ การมีศุกร์และพฤหัสในเรือน 7 ของดวงเมือง ย่อมช่วยให้ความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นไปในทางดี แต่ในกรณีนี้ เนื่องจากเสาร์จรเป็นตัวกุม อเมริกาจึงต้องทำงานหนักหากต้องการมีความสัมพันธ์ดีกับต่างประเทศ

แต่ที่หนักกว่านั้น คือ เสาร์จรจะเดินหน้าต่อเข้ากุมอาทิตย์ของดวงเมืองและของนายบุชในที่สุด และจะหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น โดยทำมุมแนบแน่นในเดือนกันยายนและตุลาคม ก่อนจะเดินถอยหลังในวันที่ 25 ตุลาคม การกุมกันครั้งนี้อาจหมายถึงว่า อเมริกาจะถูกบีบ (เสาร์) จากต่างประเทศ (เรือน 7) และไม่สามารถทำอย่างที่ตนเองต้องการได้ (เสาร์กุมอาทิตย์) ส่วนนายบุชจะถูกศัตรูลับกดดันทางจิตใจ จนเกิดความอึดอัด อิทธิพลจะแรงที่สุดตอนเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เป็นอีกมุมที่บอกว่าอเมริกาจะต้องทำงานอย่างหนักหากต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ

นอกจากนี้ เสาร์จรและเนปจูนจรจะทำมุม inconjunct ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ทำให้การจัดการ (เสาร์จร) เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ (เรือน 7) ของอเมริกามีแต่ความสับสนและไม่เข้าใจกัน (เนปจูนจร) ในขณะเดียวกัน การจัดการ (เสาร์จร) เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน (เรือน 2) ของอเมริกา ก็จะไม่ชัดเจนและไม่ประสบผลสำเร็จ (เนปจูนจร)

มีโอกาสเป็นไปได้มากว่าอิทธิพลของดาวเสาร์จรในครั้งนี้จะเกี่ยวกับเรื่องใหม่ เพราะสงครามกับอิรักน่าจะสิ้นสุดไปแล้วในตอนนั้น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องการก่อการร้ายต่ออเมริกาและชาวอเมริกัน ปัญหาเกาหลีเหนือที่ยังค้างอยู่ในขณะนี้ หรือเรื่องอื่นที่ยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งใหม่นี้จะรุนแรงไม่แพ้ที่ผ่านมา เพราะตำแหน่งดาวสำคัญต่างๆ อันประกอบด้วยพลูโตจร เนปจูนจร และเสาร์จร ต่างบ่งบอกว่าอเมริกาจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งในปีหน้า โดยเราอาจจะเริ่มเห็นเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เรื่องเหล่านี้จะขอวิเคราะห์อีกครั้งเมื่อเวลามาถึง

 

 

อ้างอิง

http://www.nidambe11.net/ekonomiz/verapong/article2003jan22p3.htm

http://www.urastro.beesigner.com/2546/writing9.html

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น